ความแตกต่างระหว่าง ถุงร้อน กับ ถุงเย็น

10046 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความแตกต่างระหว่าง ถุงร้อน กับ ถุงเย็น

ในปัจจุบัน ถุงร้อน และ ถุงเย็น กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในวงการอุตสาหกรรมอาหารที่เลือกใช้พลาสติกประเภทถุงเป็นบรรจุภัณฑ์หลักในการห่อ และการจำหน่ายอาหาร ด้วยคุณสมบัติของถุงพลาสติกที่มีความแข็งแรง เหนียว ทนทานกับความร้อนและความเย็นตามประเภทพลาสติก แถมยังราคาถูก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า “ทำไม” ผู้ประกอบการหลายคน ถึงยังเลือกใช้พลาสติกในการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภค

แต่อย่างที่เรารู้กันดี พลาสติก ไม่ได้มีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้งาน การเลือกใช้พลาสติกให้ถูกประเภท จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกวงการควรคำนึงถึง

ถุงร้อน VS ถุงเย็น ใช้แบบไหนดี?

ว่าด้วยเรื่องของ “ถุง” ในที่นี้ เราจะเน้นไปทางถุงสำหรับการบรรจุและเก็บรักษาอาหารประเภทร้อน-เย็น รู้หรือไม่ว่าพลาสติกแต่ละประเภทมีคุณสมบัติแตกต่างกัน แบบไหนที่สามารถบรรจุของร้อนได้โดยไม่ต้องกลัวถุงละลาย แล้วถุงแบบไหนถึงควรนำมาใส่ของเย็น สามารถใส่สลับถุงกันได้หรือไม่? มาหาคำตอบไปด้วยกัน

ถุงเย็น
ถุงเย็น หรือถุงพลาสติกที่เหมาะสำหรับนำมาใส่ของเย็น สามารถสังเกตไดง่ายๆ ด้วยการสังเกตชื่อหรือสัญลักษณ์บนฉลาก หากมีคำว่า LDPE (Low Density Polyethylene) ซึ่งก็คือ พลาสติกพอลิเอทิลีนแบบความหนาแน่นต่ำ นั่นแปลว่าพลาสติกประเภทนี้ เหมาะสำหรับการนำไปใส่ของเย็นนั่นเอง

ถุงพลาสติก LDPE มีคุณสมบัติอย่างไร? ถุงพลาสติกประเภทนี้ จะมีจุดเด่นที่ความใส แต่ไม่มีความมันวาว มีลักษณะนิ่ม เหนียวและยืดหยุ่น ทนต่ออุณหภูมิต่ำและความเย็นได้เป็นอย่างดี แต่จะทนต่อความร้อนได้ไม่ดีนัก ถุงพลาสติกประเภทนี้จึงถูกเรียกว่า ถุงเย็น และไม่เหมาะกับการนำไปใส่ของร้อนที่อยู่ในอุณหภูมิเดือดจัด หากฝืนใส่อาจทำให้พลาสติกเสียรูป เกิดการปนเปื้อน เปื่อยยุ่ย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้

อาหารที่เหมาะสำหรับนำไปใส่ถุงเย็น ได้แก่ ถุงผัก ถุงผลไม้ ถุงใส่อาหารแช่แข็ง ถุงใส่ขนมหวานเย็น เป็นต้น สามารถใส่ของเย็น หรือของอุณหภูมิห้องที่ต้องนำไปแช่เย็นได้ทุกประเภท

ถุงร้อน
โดยทั่วไปแล้ว ถุงร้อนจะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

ถุงร้อนใส PP : ถุงร้อนประเภทนี้หากสังเกตบนฉลากจะเห็นคำว่า PP (Polypropylene) ตัวถุงมีลักษณะใสเหมือนแก้ว ดูสะอาด มันวาว ทนความร้อนได้สูง สามารถใส่อาหารร้อนๆ เครื่องดื่มร้อนๆ ได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ต้องกลัวปนเปื้อน แถมยังทนต่อความชื้นและการซึมผ่านของอากาศได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกัน ถุงประเภทนี้มักจะทนความเย็นได้ไม่ดีนัก หากนำถุงไปแช่เย็นหรือนำไปบรรจุของที่มีความเย็นมากๆ อาจทำให้ถุงเกิดการเปราะ แตกหัก สร้างความเสียหายให้กับของที่บรรจุไว้ด้านในได้

ถุงร้อนขุ่น HDPE : ถุงร้อนแบบขุ่น หรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายในท้องตลาดว่า ถุงขุ่น ถุงร้อนประเภทนี้หากสังเกตบนฉลากจะเห็นคำว่า HDPE (High Density Polyethylene) เป็นพลาสติกพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง แข็งแรงทนทาน รับน้ำหนักได้มากกว่าถุง PP มีสีขุ่นขาว ไม่มันวาว ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากถุงประเภทนี้มีความแข็งแรง น้ำหนักเบาและราคาถูกกว่าถุงเย็น ทนต่อความเย็นและความร้อนได้ในระดับที่พอเหมาะ ไม่ร้อนจนเดือดหรือเย็นจัดจนเกินไป สามารถใช้งานได้หลากหลาย แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่แนะนำให้ใส่อาหารหรือเครื่องดื่มร้อนๆ ขณะเดือดจัด เพราะถุงสามารถเปื่อยยุ่ยจากความร้อนได้ อีกทั้ง โดยทั่วไปแล้วถุง HDPE สามารถนำเข้าช่องฟรีซได้ แต่ประสิทธิภาพจะน้อยกว่าถุงเย็น LDPE เนื่องจากเนื้อพลาสติกมีความเหนียวน้อยกว่า เมื่อเจออาหารแช่แข็ง จึงมีความปลอดภัยในการบรรจุห่อน้อยกว่าการใช้ถุงเย็นโดยตรงนั่นเอง

อาหารที่เหมาะสำหรับนำไปใส่ถุงร้อน ได้แก่ ถุงกับข้าว ถุงน้ำแกง ถุงน้ำเต้าหู้ ถุงขนม และถุงใส่อาหารทั่วไปที่สามารถพบเจอได้ตามท้องตลาด

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นถุงร้อนแบบขุ่นหรือขุ่นร้อนแบบใส ไม่แนะนำให้นำไปใส่อาหาร เครื่องดื่ม หรือสินค้าใดๆ ที่มีอุณหภูมิเดือดจัด เพราะถึงแม้ว่าเนื้อพลาสติกจะสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงได้เป็นอย่างดี แต่จะไม่ทนต่อแรงดันที่เกิดจากความร้อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อสินค้าได้ จึงควรหลีกเลี่ยง

 
ถุงร้อนและถุงเย็นสำหรับใส่อาหาร สามารถรีไซเคิลได้หรือไม่
 

เนื่องจากถุงร้อนและถุงเย็นตามท้องตลาด มีวัตถุประสงค์หลักในการนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร ในอีกความหมายก็คือ เป็นถุงที่มีการปนเปื้อนของเนื้ออาหารหลังใช้งาน ทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะทิ้งถุงพวกนี้แทนการนำมารีไซเคิล เพราะคิดว่าถุงมีการปนเปื้อนแล้ว ไม่สามารถนำมาใช้งานได้อีก

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปนเปื้อนของอาหารไม่ใช่สารเคมีร้ายแรงที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ แน่นอนว่าพลาสติกที่ถูกนำมาทำ ถุงร้อนและถุงเย็น สามารถนำมารีไซเคิลหรือส่งต่อให้ศูนย์รับบริจาคได้ โดยก่อนการนำมาใช้งานหรือการบริจาค ควรเช็ดล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย โดยล้างทั้งภายนอก และภายในถุงพลาสติกให้สะอาดเอี่ยม ไม่เหลือคราบสกปรกหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ เพื่อป้องกันสัตว์และแมลงสกปรกที่จะตามกลิ่นหรือเศษอาหารมา รวมถึงป้องกันการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคด้วย

สามารถบริจาคขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิลได้ที่

โครงการวน (Won) โครงการจากกลุ่มคนในเครือ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาใช้ พร้อมกับให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง

https://www.facebook.com/wontogether/ 

โครงการ Green Road โครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ผศ. ดร. เวชสวรรค์ หล้ากาศ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดรับขยะพลาสติก PE (Polyethylene) และพลาสติก PP (Polypropylene) เพื่อนำไปทำเป็นบล็อกปูถนน

https://www.facebook.com/greenroad.international/ 

โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน โครงการจากเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) ประกอบด้วยองค์กรธุรกิจจากเอกชนและหน่วยงานจากภาครัฐกว่า 24 องค์กร เพื่อเป็นต้นแบบในการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

https://www.facebook.com/sendplastichome/ 

และโครงการอีกมากมาย ที่ยังคงเปิดรับขยะจากพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล

เรื่องของถุงพลาสติก ถุงแกง และถุงใส่อาหารยังคงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะแบบนั้นจึงควรเลือกถุงพลาสติกให้ถูกประเภทการใช้งาน เพื่อความปลอดภัยของอาหารที่บรรจุไว้ภายใน รวมถึงควรรู้วิธีการกำจัดขยะจากถุงอาหารที่ใช้งานแล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว


สินค้าที่เกี่ยวข้อง : ถุงพลาสติก

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้