น่ารู้ 7 ประเภทพลาสติกที่ควรคัดแยกก่อนใช้งาน มีอะไรบ้าง?

7007 จำนวนผู้เข้าชม  | 

น่ารู้ 7 ประเภทพลาสติกที่ควรคัดแยกก่อนใช้งาน มีอะไรบ้าง?

ทุกวันนี้ บรรจุภัณฑ์พลาสติก กลายเป็นเหมือนส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน รอบตัวก็เต็มไปด้วยข้าวของและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำจากพลาสติก ไม่ว่าจะเป็น ขวดพลาสติก แก้วพลาสติก ถังพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากพลาสติก ด้วยความที่พลาสติกเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง คงทน สามารถขึ้นรูปได้หลากหลาย ในราคาที่ย่อมเยาว์ จึงไม่แปลกใจเลยว่า “ทำไม” หลายกิจการถึงเลือกใช้พลาสติกเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อออกวางจำหน่าย

รู้หรือไม่? ว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เราเห็นหรือใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นพลาสติกต่างประเภทกัน พลาสติกแต่ละประเภทมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร นิยมนำไปใช้งานด้านใด และแต่ละประเภทมีข้อจำกัดยังไงบ้าง เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานพลาสติกประเภทนั้นๆ รวมถึงประสิทธิภาพของบรรจุภัณฑ์ และการแยกขยะหลังการใช้งาน เพื่อความสะดวกในการนำไปรีไซเคิลต่อไป

 

ประเภทของ บรรจุภัณฑ์พลาสติก มีอะไรบ้าง?


 
โดยทั่วไปแล้ว พลาสติกที่เราเห็นในชีวิตประจำวันจะถูกแบ่งออกเป็น 7 ประเภทใหญ่ๆ ตามคุณสมบัติและการใช้งานของพลาสติกประเภทนั้น วิธีง่ายๆ ที่เราจะแยกพลาสติกแต่ละประเภทว่าเป็นพลาสติกแบบไหน เพื่อเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน และช่วยผู้บริโภคแบ่งประเภทพลาสติกเพื่อนำเข้าระบบรีไซเคิล สามารถทำได้ด้วยการดู “สัญลักษณ์นัมเบอร์” บนพลาสติกนั่นเอง

สัญลักษณ์เบอร์ 1 : พลาสติก PET
 

 

พลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) เป็นพลาสติกที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวงการอุตสาหกรรมอาหาร ความโดดเด่นของพลาสติกประเภท PET จะอยู่ที่ความใสของเนื้อพลาสติก สามารถมองทะลุเห็นสิ่งที่ถูกบรรจุในบรรจุภัณฑ์ได้ เป็นพลาสติกที่นิยมนำไปรีไซเคิลมากที่สุด แต่มีข้อเสียคือ พลาสติกประเภทนี้ควรใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นพลาสติกประเภทที่ไม่ควรใส่ของร้อน เพราะอาจทำให้เนื้อพลาสติกละลายลงไปปะปนกับของเหลวที่ใส่อยู่ได้

พลาสติก PET ที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ขวดพลาสติก PET แก้วพลาสติก กล่องขนมหวาน กล่องเค้ก กล่องคุกกี้ เป็นต้น

 

สัญลักษณ์เบอร์ 2 : พลาสติก HDPE

พลาสติก HDPE (High Density Polyethylene) เป็นพลาสติกอีกประเภทที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในท้องตลาด มีลักษณะเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกสีขาว หรือโทนสีอื่นที่เป็นสีทึบ ทนความร้อนและ ความเย็นได้เป็นอย่างดี สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ มีความเหนียวและทนทานกว่าพลาสติก PET แต่เนื้อพลาสติกจะดูทึบกว่า ไม่สามารถมองทะลุได้

พลาสติก HDPE ที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ขวดนมพาสเจอร์ไรซ์ ขวดแชมพู ขวดน้ำยาซักล้าง กระปุกยา เป็นต้น

สัญลักษณ์เบอร์ 3 : พลาสติก PVC

พลาสติก PVC (Polyvinyl Chloride) หรือที่เรียกกันติดปากว่า พีวีซี เป็นพลาสติกที่มีเนื้อแข็งหรือเป็นยาง นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมและธุรกิจก่อสร้าง เพราะความแข็งแรง ทนทาน สามารถกันกลิ่นได้ดี แต่มีข้อเสียคือเป็นพลาสติกที่มีสารประกอบคลอรีนซึ่งสามารถตกค้างในร่างกาย สร้างมลพิษต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อมได้
 
พลาสติก PVC ที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ท่อประปา นามบัตร หลอดพลาสติกแบบแข็ง เป็นต้น

 

สัญลักษณ์เบอร์ 4 : พลาสติก LDPE

พลาสติก LDPE (Low density polyethylene) เป็นพลาสติกที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้งานอีกประเภท มีจุดเด่นที่ความเหนียวและความยืดหยุ่น ปลอดภัย สามารถใช้กับอาหารได้ไม่ต้องกลัวการปนเปื้อน ทนความร้อนและความเย็นได้ดี แต่มีข้อเสียคือเป็นพลาสติกที่นำมารีไซเคิลได้ยาก

พลาสติก LDPE ที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ถุงพลาสติกมีหูหิ้ว ฟิล์มแพ็คขวดน้ำแบบยกแพ็ค ฟิล์มแพ็คนมกล่อง ฟิล์มแพ็คน้ำผลไม้ พลาสติกแรปห่ออาหาร เป็นต้น

 

สัญลักษณ์เบอร์ 5 : พลาสติก PP

พลาสติก PP (Polypropylene) พลาสติกประเภทนี้มีจุดเด่นที่ความแข็งของเนื้อพลาสติก แข็งแรง น้ำหนักเบา สามารถทนความร้อนได้ดี จึงสามารถนำพลาสติกประเภทนี้ไปเข้าไมโครเวฟได้แบบไม่ต้องกลัวเสียหาย นิยมนำไปใช้ทำเป็นแพคเกจต่างๆ สำหรับบรรจุสินค้า โดยเฉพาะในวงการอุตสาหกรรมอาหาร

พลาสติก PP ที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ขวดพลาสติก PP (Internal link) ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถ้วยโยเกิร์ต ฝาขวดน้ำ เป็นต้น

 

สัญลักษณ์เบอร์ 6 : พลาสติก PS

พลาสติก PS (Polystyrene) เป็นพลาสติกที่มีลักษณะแข็งและมันวาว ราคาถูก สามารถนำมาขึ้นรูปได้ง่าย แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานเพราะย่อยสลายยาก รีไซเคิลได้ยาก แถมยังเปราะแตกง่ายอีกด้วย

พลาสติก PS ที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ช้อน ส้อมพลาสติก ภาชนะโฟม ฝาแก้วกาแฟ แก้วน้ำชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นต้น


สัญลักษณ์เบอร์ 7 : พลาสติกอื่นๆ

พลาสติกอื่นๆ ที่มีสัญลักษณ์เบอร์ 7 หรือสัญลักษณ์ OTHER กำกับไว้ แต่ต้องระวังสาร Bisphenol A หรือที่เราเรียกว่า BPA ซึ่งหากสารนี้ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลเสียต่อเซลล์สมอง ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์

พลาสติกประเภทนี้ โดยทั่วไปแล้วมักไม่ค่อยนิยมนำมาใช้ทำเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เพราะอาจทำให้มีสารตกค้างปนเปื้อนอยู่ในเนื้ออาหารจนเกิดอันตรายได้ มักเจอในสินค้าประเภทที่เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลายชนิดซ้อนกัน พวกฟิล์มพลาสติกแบบหลายชั้น เช่น ถุงสบู่แบบเติม ถุงสารเคมี ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ซึ่งสินค้าเหล่านี้ บางยี่ห้อ บางชนิดต้องใช้พลาสติกซ้อนกันหลายชั้นเพื่อรักษาคุณภาพสินค้านั่นเอง

การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ถูกประเภท ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรคำนึงถึง เพราะการเลือกใช้พลาสติกถูกประเภท นอกจากจะช่วยในเรื่องประสิทธิภาพของการใช้งานแล้ว ยังช่วยให้ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนที่จะมาทำลายสุขภาพของคุณในระยะยาว รวมถึงการแยกขยะหลังใช้งาน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอีกด้วย

ใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันอย่างมั่นใจ เริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการเลือกพลาสติกให้ถูกประเภทการใช้งาน

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : https://www.greenpeace.org/thailand/story/2242/plastic-101/ 

สินค้าที่เกี่ยวข้อง : บรรจุภัณฑ์พลาสติก, ถุงพลาสติก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้